วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

บทความ
เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีกับการจัดการศึกษา
โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 อำเภอพบพระ จังหวัดตาก
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2

ประวัติของโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4
พ.ศ.2518ปีก่อตั้ง
กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 6 กรมตำรวจได้ก่อตั้งโรงเรียนบ้านห้วยน้ำเย็น เพื่อจัดการศึกษาให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส อยู่ห่างไกล กันดารและขาดแคลน โดยตั้งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2518 มี ดต.เกรียง แก่น-สัมพันธ์ เป็นครูใหญ่คนแรก โดยทำการก่อสร้างเป็นอาคารเรียนชั่วคราวอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามกับพื้นที่ของโรงเรียน
ในปัจจุบัน (ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาบ้านร่มเกล้า 1) ในระยะเริ่มแรกเปิดทำการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 1 – 4 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2519 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนค่ายพระเจ้าตากสงเคราะห์ที่ 1

พ.ศ. 2522 ย้ายโรงเรียน
กรมป่าไม้ในสมัยที่นายถนอม เปรมรัศมี (2520 – 2523) เป็นอธิบดี มีนโยบายในการปฏิบัติราชการว่านอกจากจะดำเนินงานด้านบริหาร และด้านวิชาการให้เกิดผลดีแก่ประเทศชาติแล้ว ยังมีนโยบายด้านการเข้าถึงประชาชน โดยต้องการให้ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ เข้าช่วยเหลือและร่วมมือกับประชาชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ให้ได้มีการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ การอาชีพ การศึกษา ให้มีความก้าวหน้าอยู่เสมอ สำหรับนโยบายที่เกี่ยวกับการศึกษา กรมป่าไม้ได้สนับสนุนการศึกษาประชาบาลแก่เยาวชน ซึ่งเป็นบุตรหลานของประชาชนในชนบท ในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ ด้วยการจัดสร้างอาคารเรียนมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆ รับไปใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษา โดยได้รับความร่วมมือร่วมใจจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง บริษัทห้างร้านและ
ผู้ดำเนินกิจการด้านป่าไม้
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2522 กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้บริษัทตากค้าไม้ จำกัด มาทำการ-ก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป 1 ก (ตึก) ขนาด 3 ห้องเรียนจำนวน 1 หลัง และส่งมอบอาคารให้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2523 และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 (ตชด.อุปถัมภ์) บนที่ราชพัสดุเนื้อที่ 22 ไร่ 2 งาน 6 ตารางวา
ณ ที่ทำการของโรงเรียนในปัจจุบัน

โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 เปิดทำการเรียนการสอน 4 ระดับคือ ระดับอนุบาลศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย เปิดเรียน 2 ภาคเรียน คือ

ความสนใจด้านการศึกษาชองชุมชน
ถึงแม้ในอดีตที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทยภูเขาเผ่าม้งจะไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเท่าที่ควร โดยเฉพาะการไม่ยอมส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนเพราะต้องนำไปใช้แรงงานในการประกอบอาชีพเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ให้ความเอาใจใส่และต้องการให้บุตรหลานได้มีความรู้มากขึ้น และถ้ามีโอกาสก็จะส่งบุตรหลานได้เรียนสูงขึ้น แต่ยังไม่ให้ความสำคัญการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยเฉพาะการให้การสนับสนุนปัจจัยที่มีส่วนในการลงทุนด้านการจัดการศึกษา ทั้งนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากฐานะความเป็นอยู่ที่ยังยากจนอยู่ ทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น

ปัญหาและความต้องการในการจัดการศึกษา
สามารถสรุปประเด็นปัญหา ความต้องการและสาเหตุของปัญหาในการจัดการศึกษาได้ดังนี้

1. นักเรียนออกกลางคันในรอบปีที่ผ่านมา (ปีการศึกษา 2550) จำนวน 39 คน คิดเป็นร้อยละ 4.25
สาเหตุของปัญหา
- เดินทางด้วยความยากลำบาก ห่างไกล
- ผู้ปกครองมีฐานะยากจน ต้องออกไปช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพ
- อพยพตามผู้ปกครองไปประกอบอาชีพที่อื่น
- อพยพไม่ทราบที่อยู่
- ย้ายโรงเรียนแต่ทางโรงเรียนที่รับย้ายไม่แจ้งการรับย้าย
แนวทางแก้ไข
- จัดสรรทุนการศึกษาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับนักเรียน
- จัดสรรค่าพาหนะรถรับ – ส่งนักเรียน
- แก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการย้ายให้รวดเร็วขึ้น
- สร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการศึกษา

2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนบางสาระการเรียนรู้/กลุ่มสาระการเรียนรู้ ต่ำกว่าเป้าหมาย
สาเหตุของปัญหา
- นักเรียนมีพื้นฐานความรู้ด้านภาษาไทยต่ำจึงส่งผลถึงกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ
- กระบวนการเรียนการสอนของครูยังไม่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางเท่าที่ควร
- การขาดแคลนอัตรากำลังครู
- นักเรียนไม่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมการแสดงออกด้านวิชาการที่หลากหลาย
แนวทางแก้ไข
- เพิ่มอัตรากำลังครูให้พอเพียงกับจำนวนนักเรียน - ส่งเสริมให้ครูปรับกระบวนการเรียนการสอนให้หลากหลาย

3. ปัญหาการขาดเรียนของนักเรียนสูง
สาเหตุของปัญหา
- นักเรียนต้องช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพ
- ผู้ปกครองมีฐานะยากจน
- ปัญหาครอบครัวแตกแยก
แนวทางแก้ไข
- ทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน
- ให้ครูติดตามถึงบ้าน
- ทำหนังสือแจ้งผู้ปกครอง

4. ความขาดแคลนบุคลากรสายงานสอนซึ่งตามเกณฑ์ ก.ค.ต้องมี 52 คน แต่ปัจจุบันมี 32 คน คงขาดแคลนตามเกณฑ์ ก.ค. จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 38
สาเหตุของปัญหา
- ครูผู้สอนย้ายสถานศึกษาบ่อยทำให้ขาดความต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
- การจัดสรรอัตรากำลังไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน
แนวทางแก้ไข
- จ้างครูจ้างสอน (ครูจ้างสอนชั่วคราว)
- ขอสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล
- ใช้วิธีการเรียนการสอนที่หลากหลาย เช่น การรวมห้องเรียน การสอนแบบบูรณาการ การใช้สื่อเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

5. ความขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนและสื่อเทคโนโลยี
สาเหตุของปัญหา
- ความขาดแคลนงบประมาณ
- ผู้ปกครองนักเรียนมีฐานะยากจน
แนวทางแก้ไข
- การจัดสรรงบประมาณ
- ขอสนับสนุนจากภาคราชการและเอกชน

จากการได้รับทราบข้อมูลของโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 ไปแล้ว จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาโดยการนำเอานวัตกรรมและสารสนเทศมาใช้ควบคู่กับการจัดการเรียนการสอนนั้น เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลค่อนข้างน้อย
แต่ในปัจจุบันทางโรงเรียนได้ดำเนินการปรับปรุงส่วนที่เป็นปัญหาอุปสรรคในด้านการจัดกิจกรรมการเรียน-การสอนไปกว่าร้อยละ 80 แล้ว เนื่องจากเหตุการณ์และเทคโนโลยีในปัจจุบันเป็นตัวหลักก้าวไปสู่โลกแห่งเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงทำให้คณะครู นักเรียนโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 พยายามที่จะมุ่งศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง
โดยคณะครูจะเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการนำเอานวัตกรรมและสารสนเทศมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้มากที่สุด นักเรียนก็ได้รับความรู้จากการเรียนโดยครูเป็นผู้ให้ ตลอดจนนักเรียนเป็นผู้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองเป็นต้น
นางสาวดวงแก้ว กันเอื้อง
นักศึกษาปริญญาโท โปรแกรมการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ( จังหวัดตาก )
รหัสประจำตัวนักศึกษา 519180264

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น